โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน กิจกรรมหลักส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์
1.หลักการและเหตุผล
ข้าวเป็นพืชอาหารหลักและเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ในอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่ในสถานการณ์การปัจจุบันการส่งออกข้าว มีภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียมีศักยภาพในการผลิตข้าวที่สูงขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทย ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาการจำหน่ายข้าวไปยังต่างประเทศของไทยที่มีราคาแพงกว่าประเทศอื่นๆ ในระดับคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตข้าว และเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นในการผลิตข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งต้องหันมาดูแลสุขภาพ ใส่ใจกับการรับประทานอาหารปลอดสารเคมีมากขึ้น
จากสถานการณ์ดังกล่าวรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย ได้มีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและรายได้ของชาวนา ซึ่งการผลิตข้าวอินทรีย์เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสร้างเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าว รักษาสภาพแวดล้อม และกรมการข้าวได้ดำเนินการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สร้างสังคมที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้กับประเทศต่อไป
2. วัตถุประสงค์
2.1.เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ให้ได้ตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.2.สร้างกลุ่มชาวนาที่มีความเข้มแข็ง สามรถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ให้มีความสมดุล รักษาสภาแวดล้อมของชุมชน ประชากรในชุมชนมีสุขภาพที่ดี
3. พื้นที่ดำเนินการ
โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์จังหวัดขอนแก่น มีทั้งหมด 16 อำเภอ กลุ่มเกษตรกร 286 กลุ่ม เกษตรกร 5,559 คน พื้นที่ 43,686 ไร่ โดยแบ่งเป็น
- เกษตรกรปี 2560 จำนวน 46 กลุ่ม เกษตรกร 768 คน พื้นที่ 7,129 ไร่ แบ่งเป็นข้าวพันธุ์กข6 พื้นที่ 4,052 ไร่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พื้นที่ 3,059 ไร่ และพันธุ์อื่นๆพื้นที่ 18 ไร่
- เกษตรกรปี 2561 จำนวน 114 กลุ่ม เกษตรกร 1,834 คน พื้นที่ 19,092.75 ไร่ แบ่งเป็นข้าวพันธุ์กข6 พื้นที่ 9,405.5 ไร่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พื้นที่ 9,655.25 ไร่ และข้าวพันธุ์อื่นๆ พื้นที่ 32 ไร่
- เกษตรกรปี 2562 จำนวน 126 กลุ่ม เกษตรกร 2,957 คน พื้นที่ 17,464 ไร่ แบ่งเป็นข้าวพันธุ์กข6 พื้นที่ 11,113 ไร่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พื้นที่ 6,319 ไร่ และข้าวพันธุ์อื่นๆ พื้นที่ 32 ไร่
4.การสนับสนุน
โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน กิจกรรมหลักส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์ มีระยะเวลาเข้าร่วมโครงการ 3 ปี ดังนี้คือ
ปีที่ 1 รับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการโดยคณะทำงานของข้าวอินทรีย์แต่ละจังหวัด โดยเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ต้องรวมกลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิกจำนวน 5 คนขึ้นไป และมีพื้นที่ร่วมกันไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ อยู่ในชุมชนเดียวกันหรือในบริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อทำการตรวจประเมินเบื้องต้นกลุ่มเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนด 5 ข้อ คือ 1) พื้นที่ปลูก 2) แหล่งน้ำ 3) การจัดการดินและปุ๋ย 4) การจัดการคุณภาพก่อนการเก็บเกี่ยว 5) บันทึกข้อมูลและจัดเก็บข้อมูล กลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการตรวจประเมินในปีที่ 1 กรมการข้าวจะออกใบรับรองให้กลุ่มเกษตรกรโดยจะได้รับรองตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์ ในระยะ “เตรียมความพร้อม” และจะได้รับเงินอุดหนุนตามอัตราที่กำหนด (2000 บาท/ไร่ ไม่เกิน 15 ไร่/ราย)
ปีที่ 2 กลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการตรวจประเมินเบื้องต้นในปีที่ 1 จะได้รับการตรวจรับรองแบบกลุ่มตามข้อกำหนดมาตรฐานข้าวอินทรีย์ (มกษ.9000 เล่ม 1 และ 4) ตามข้อกำหนด 9 ข้อ คือ 1) พื้นที่ปลูก 2) แหล่งน้ำ 3) การจัดการดินและปุ๋ย 4) การจัดการคุณภาพก่อนการเก็บเกี่ยว 5) การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว 6) การขนย้าย การเก็บรักษา และการรวบรวมผลผลิต 7) การแปรรูป 8) การบรรจุหีบห่อ และ9) การบันทึกข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูล (แหล่งผลิต แปรรูป และคัดบรรจุ) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขอบข่ายที่กลุ่มเกษตรกรยื่นขอการรับรอง กลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการตรวจรับรอง กรมการข้าวจะออกใบรับรอง ตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์ “ระยะปรับเปลี่ยน”และได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนตามอัตรากำหนด (3,000 บาท /ไร่ ไม่เกิน 15 ไร่/ราย)
ปีที่ 3 กลุ่มเกษตรกรได้รับการตรวจรับรองต่อเนื่องเป็นการตรวจรับรองแบบกลุ่มตามข้อกำหนดมาตรฐานข้าวอินทรีย์ (มกษ.9000 เล่ม 1 และ 4) ตามข้อกำหนด 9 ข้อ ในปีที่ 2 (ระยะปรับเปลี่ยน) กลุ่มเกษตรกรจะได้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์รายละ 15 กิโลกรัม/ไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ และกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการตรวจรับรอง กรมการข้าวจะออกใบรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) และได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนตามอัตราที่กำหนด (5000 บาท/ไร่ ไม่เกิน 15 ไร่/ราย)