แปลงใหญ่ข้าว


โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2564

: กิจกรรมหลักส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ข้าวและเพิ่มศักยภาพของศูนย์ข้าวชุมชน

กิจกรรมย่อยส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ข้าว

เหตุผลความจำเป็นที่ต้องดำเนินโครงการ

ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นการดำเนินงานซึ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่และทำการผลิตเอง การกำหนด พื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ในเขตสหกรณ์นิคม และพื้นที่เกษตรทั่วไป โดยจะมีกำหนดเป้าหมายการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอน มีเป้าหมายการดำเนินงานของกลุ่มชัดเจน เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกรตลอดกระบวนการผลิต ช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด เกษตรกรสามารถเข้ารับการส่งเสริมในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ โดยต้องมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการดังนี้


1. เกษตรกรต้องมีการรวมตัวกัน 30 คน ขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกัน 300 ไร่ ขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องเป็นแปลงติดกันเป็นผืนเดียวแต่ควรมีพื้นที่อยู่ภายในชุมชนใกล้เคียงกัน

2. เกษตรกรต้องสมัครใจเข้าร่วมโครงการ และควรมีกระบวนการ่วมกลุ่ม แต่หากยังไม่เป็นกลุ่ม ต้องเป็นกลุ่ม ที่สามารถนำมาพัฒนาให้เกิดเป็นกลุ่มต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต มีการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการรวมกันผลิตและรวมกันจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน

2. เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

พื้นที่ดำเนินการ

นาแปลงใหญ่จังหวัดขอนแก่น มีทั้งหมด จำนวน  129 แปลง เกษตรกร 6,358 ราย พื้นที่ 69,575.75 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 20 อำเภอในจังหวัดขอนแก่น โดยแบ่งเป็นเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปี 2562 จำนวน 104 แปลง เกษตรกร 5,045 ราย พื้นที่ 55,483 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการปี 2563 จำนวน 20 แปลง เกษตรกร 1,094 ราย พื้นที่ 11,606.75 ไร่ และมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปี 2563 จำนวน 5 แปลง เกษตรกร       219 ราย พื้นที่ 2,486 ไร่ สมาชิกเกษตรกลุ่มนาแปลงใหญ่จังหวัดขอนแก่น มีการดำเนินการปลูกข้าวพันธุ์ กข6 จำนวน 80 แปลง เกษตรกร 4,012 ราย พื้นที่ 43,817 ไร่ และปลูกข้าวพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน      49 แปลง เกษตรกร 2,346 ราย พื้นที่ 25,758.75 ไร่

 

กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เกิดจากการรวมกลุ่มเกษตรกรที่สนใจและตั้งใจในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (ไข่แดง)  ในการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และกระจายเมล็ดพันธุ์สู่สมาชิกที่ผลิตข้าวคุณภาพดี (ไข่ขาว) ของกลุ่มและเกษตรกรในชุมชน สำหรับกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (ไข่แดง) มีเกษตรกร 1,658 ราย พื้นที่ 16,844.40 ไร่ และกลุ่มผลิตข้าวคุณภาพดี (ไข่ขาว) เกษตรกร 4,475 ราย พื้นที่ 50,421.35 ไร่

การสนับสนุนด้านการผลิต

สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้กับกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยสนับสนุนจำนวน 3 ปี ดังนี้ ปีที่ 1 และปีที่ 2 สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 20% ของพื้นที่ ส่วนปีที่ 3 สนับสนุเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 10% ของพื้นที่ เป็นการส่งเสริมให้มีการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้บริการแก่สมาชิกและเกษตรกรในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง โดยพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดทำแปลงไม่เสี่ยงต่อสภาวะฝนแล้งหรือน้ำท่วม จากสมาชิกที่มีความสนใจ สมัครใจในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและสามารถปฏิบัติตามกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ตามคำแนะนำของทางราชการในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีกระจายสู่สมาชิกและส่วนที่เหลือเพื่อจำหน่ายในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีเงื่อนไขให้สมาชิกผู้จัดทำแปลงยืม และมีการส่งคืนหลังการเก็บเกี่ยว ในรูปเมล็ดพันธุ์หรือเงินสด ทั้งนี้ ควรให้ส่งคืนในอัตราใกล้เคียงกับราคาเมล็ดพันธุ์ เพื่อรวบรวมเป็นกองทุนหมุนเวียนของกลุ่มในการบริหารจัดการของกลุ่มในปีต่อ ๆ ไป

สนับสนุนกระสอบบรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยสนับสนุนกระสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2564 แปลงละประมาณ 500 ใบ

ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โดยการเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวทุกแปลงวิเคราะห์คุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือใช้เป็นค่าจ้างในการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ รวมถึงสามารถใช้เป็นค่าทำงานล่วงเวลากรณีที่การตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ใช้เวลานานกว่าปกติ หรือไม่สามารถทำการตรวจสอบคุณภาพในเวลาราชการได้