สมมาตร ทองใบ นักวิชการเกษตร ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น
เทคนิควิธีการทำนาในปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปมากมาย เช่น การตกกล้าปักดำด้วยแรงงานคน การเพาะกล้าปักดำรถปักดำนา การหว่านแห้งหรือหว่านสำรวย การหยอดแถวด้วยเครื่องมือเครื่องจักร แบบต่างๆ การหว่านน้ำตม การโรยเมล็ด หรือแม้แต่การโยนกล้า ที่จะได้เรียนรู้ในเนื้อหานี้ ซึ่งมีความหลากหลายตามสภาพพื้นที่ ความต้องการและความชอบของเกษตรกร
คำแนะนำในการปลูกข้าวโดยวิธีการโยนกล้า ให้เป็นทางเลือกในพื้นที่
- สามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่ปัญหาข้าววัชพืช (ระบาดมากในพื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัด) เช่นเดียวกับวิธีการปักดำนา หรือวิธีการปลูกข้าวที่ประณีตแบบอื่นๆ
- เป็นเทคนิควิธีการปลูกข้าวที่เหมาะสมสำหรับการสาธิต แปลงเรียนรู้ หรือการลงแขก ในรูปแบบงานส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร เช่น ศูนย์เรียนรู้ข้าวในโรงเรียน ยุวเกษตรกร หรือในชุมชน เป็นต้น
- เป็นเทคนิคการผลิตข้าวแบบประณีตอีกแบบหนึ่ง สามารถใช้ในการผลิตข้าวอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี ใช้เป็นวิธีการปลูกข้าวเพื่อควบคุมวัชพืชหรือข้าววัชพืชได้
- เป็นวิธีการเพาะปลูกข้าวที่ประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้ดี (อัตราการใช้ 4 - 6 กิโลกรัมต่อไร่)
- สามารถใช้ได้กับทุกสภาพดิน ได้แก่ ดินเหนียว ดินร่วนเหนียว หรือแม้แต่ดินทราย ซึ่งเกษตรกรได้ทดสอบการปลูกโดยวิธีการโยนกล้าแล้วในสภาพดินทราย (อำเภอแวงน้อย แวงใหญ่และอำเภอพล) ได้ผลดี มีข้อจำกัดคือ ต้องมีน้ำเพียงพอสำหรับการปลูกข้าวโยนกล้า
- เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่การทำนาน้อย และสามารถบริหารจัดการพื้นทีได้อย่างดี ประณีต
เจ้าหน้าที่่และเกษตรกรร่วมปลูกข้าวโดยการโยนกล้า แปลงสาธิต บ้านบะแค ตำบลแวงใหญ่ อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น
เยาวชนกำลังเพาะกล้าข้าวลงถาดหลุม (ขนาด 434 หลุม) สำหรับโยนกล้า
ขั้นตอนง่ายของการเพาะกล้าสำหรับโยนกล้า
- ใส่ดินลงในถาดหลุม 1/3 - 1/2 ส่วนของหลุม
- โรยหรือหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในถาดหลุม (หากต้องการปริมาณมากใช้วิธีเรียงถาดหลุมเป็นผืนใหญ่ จะสามารถโรยได้สะดวกและรวดเร็ว)
- กลบดินแล้วใช้มือหรือไม้ลูบดินออกให้เสมอขอบหลุม โดยอย่าให้ดินล้นจากขอบมากจะทำให้ตุ้มของต้นข้าวติดกันได้ง่ายทำให้ไม่สะดวกในการโยน
ภาพ ขั้นตอนการหยอดเมล็ดในการเพาะกล้าข้าวสำหรับนาโยน
กิจกรรมสาธิตการโยนกล้า ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอแวงใหญ่ โดย นายขัญติภาณ ศรีใส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอแวงใหญ่
การสาธิตเพาะเมล็ดพันธุ์ลงถาดเพาะกล้าบนโต๊ะ ทำแบบน้อยเหมาะสำหรับกิจกรรมเด็กเยาวชน หรือกิจกรรมเล็กๆ ของครอบครัว
เมล็ดพันธุ์ที่ใส่ลงไปในถาดหลุม มีวิธีการหยอดเมล็ดหลายๆ แบบ ได้แก่ การใช้ถาดหยอดเมล็ด การใช้ตะแกรงร่อนโรยเมล็ด หรือโรยด้วยมือ (จากภาพหยอดโดยใช้ถาดหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวนาโยน จะมีเมล็ดพันธุ์ในหลุม 2 - 4 เมล็ด/หลุม
ภาพ ใส่ดินรองก้นหลุ่มประมาณ 1/3 - 1/2 ของหลุม
เมล็ดพันธุ์ข้าวที่โรยลงในถาดเพาะกล้าถาดหลุ่มอย่างสม่ำเสมอ
คลุมด้วยตาข่ายพรางแสง (ซาแรน) เพื่อป้องกันน้ำฝนหรือน้ำที่เรารดกัดเซาะ รวมไปถึงป้องกันการระเหยของน้ำ เนื่องจากดินในถาดหลุมมีปริมาณน้อยมาก ดังนั้นจึงต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหากวางถาดกล้าไว้กลางแจ้ง แสงแดดจัดตลอดวัน ต้องรดน้ำ 2-3 ครั้งต่อวัน หากมีหลังคาพรางแสงหรือแดดไม่จัด สามารถควบคุมความชื้นได้ดี รดน้ำแค่วันละครั้งก็เพียงพอ
ต้นกล้าอายุ 1 สัปดาห์ เมื่อเราเอาตาข่ายพรางแสงออกต้นกล้าที่งอกแซมช่องตาข่ายขนาดเล็กมักจะติดออกมาด้วย ดังนี้วัสดุคลุมจึงสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง เช่น คลุมด้วยกระสอบปอ (หายากและคลุมยาก) หรือตาข่ายไนลอน เป็นต้น
กล้าข้าวอายุ 1 สัปดาห์ ที่มีความแข็งแรง ดูแลน้ำได้เป็นอย่างดี
กล้าข้าวอายุ 14 วัน ดึงจากถาดเพาะที่พร้อมสำหรับโยน แนะนำให้ใช้ดินเหนียว ดินร่วนเหนียว ดินร่วน หรือดินรวนทราย ยกเว้นการใช้ถ่านแกลบไม่เหมาะสำหรับทำกล้านาโยนอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นวัสดุปลูกที่่ร่วนเกินไป
ต้นกล้าข้าวเพาะด้วยปุ๋ยหมักน้ำปุ๋ยคอก เจริญเติบโตและแข็งแรงดีกว่าปกติ
ต้นกล้าข้าวขาดน้ำ จากปัญหาแดดจัด เกษตรกรรดน้ำไม่เพียงพอหรือรดน้ำไม่สม่ำเสมอ
ถาดเพาะกล้าข้าวที่วางที่แนบสนิทกับพื้น มักประสบปัญหาดินเพาะแห้งเร็ว ต้นกล้าก็จะเจริญเติบโตไม่ดี หรือตายไป
แปลงเพาะกล้าข้าวรองพื้นด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก จะได้ต้นกล้าข้าวที่สวยงามแข็งแรงมาก
นางประพาต แก้วจันทร์ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลแวงใหญ่ (บ้านบะแค) สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทศูนย์ข้าวชุมชนดีเด่น ประเภทข้าวทั่วไป (ข้าวเหนียว) ร่วมจัดกิจกรรมแปลงสาธิตการโยนกล้าข้าวในบริเวณแปลงนาสาธิตของศูนย์ข้าวชุมชนเป็นประจำทุกปี
ตารางเปรียบเทียบต้นทุน (บาท/ไร่) ของการปลูกข้าวหอมมะลิ ด้วยวิธีการปลูกแบบต่างๆ